วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การพัฒนาทักษะพื้นฐานคณิตศาสตร์เด็กปฐมวัย

  คณิต หมายความถึง   การนับ  การคำนวณ  คณิตศาสตร์   หมายถึง วิชาว่าด้วยการคำนวณ  หรือวิชาที่ว่าด้วยการคิดเลข  ( ราชบัณฑิตยสถาน, 2542 : 214)  คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย  แตกต่างจากวิชาคณิตศาสตร์   ในระบบการเรียนการสอนของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เพราะ  การจัดการศึกษาปฐมวัยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ  คือการอบรมเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี ให้มีความพร้อมในพัฒนาการทั้ง  4  ด้าน  คือ  ด้านร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยองค์รวม และหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  พุทธศักราช  2546  ได้กำหนดประสบการณ์สำคัญด้านสติปัญญา  ซึ่งผู้ศึกษาขอกล่าวเฉพาะเรื่อง  จำนวน  และหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย  สถานศึกษาอนุบาลสุพรรณบุรี        ได้กำหนดสภาพที่พึงประสงค์ในมาตรฐานที่ 10  ตัวบ่งชี้ที่ 1 บอกหรือแสดงค่าจำนวน 1 – 5  ความสำคัญและความจำเป็น  ต่อการพัฒนาทักษะพื้นฐานคณิตศาสตร์เด็กปฐมวัย เพราะเป็นเรื่อง  ใกล้ตัวเด็ก และปรากฏให้เห็นอยู่รอบตัวเด็กในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เด็กจึงควรได้รับการพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้   เช่น  การดูวันที่ในปฏิทิน  ดูเวลาบนหน้าปัดนาฬิกา    เลขที่บ้าน หมายเลขโทรศัพท์  การเลือกชมรายการในทีวีช่องต่างๆ การซื้อ การขาย ฯลฯ
        นักการศึกษา  แวน เดอ เวล  (van De Walle, 1944    อ้างถึงใน  นภเนตร  ธรรมบวร, 2544 : 69 – 75)   กล่าวว่า    ขณะที่เด็กสำรวจโลกรอบตนเอง   เด็กจะวางรากฐานคณิตศาสตร์ไปพร้อม ๆ กันการเรียนคณิตศาสตร์  จำเป็นต้องมีความหมายกับตัวเด็ก  กล่าวคือ  ครูควรส่งเสริมให้เด็กสำรวจ     ให้เหตุผล  และคิดแก้ปัญหามากกว่าการเรียน โดยการจำกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์เท่านั้น    เด็กจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจคณิตศาสตร์โดยการคิดด้วยตนเอง และค้นหาคำตอบซึ่งมีความหมายสำหรับตัวเขา
                        นักการศึกษา คาร์เพนเตอร์ (Carpenter, 1985)   กล่าวว่า  งานวิจัยทางคณิตศาสตร์ในปัจจุบันมุ่งเน้นวิธีการ ซึ่งกระตุ้นให้เด็กสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่ง  ที่ครูสามารถส่งเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ของเด็ก คือ การเปิดโอกาสให้เด็กอภิปราย สนทนา พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาทางคณิตศาสตร์
            สุวิมล   อุดมพิริยะศักย์ (2547 : 171-172)  กล่าวไว้ว่า  เรื่องของคณิตศาสตร์นั้น  ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ใหญ่บางคน  เพราะเหตุนี้ความคิดที่ว่าจะนำเอาความรู้  เกี่ยวกับคณิตศาสตร์หรือการคิดคำนวณ     มาให้เด็กที่จัดกลุ่มไว้เพื่อการเล่น   ได้เรียนรู้บ้างจึงไม่ใช่เรื่องง่าย  ความจริงแล้วการคิดคำนวณที่ว่านั้นไม่ใช่การบวกลบ  แต่คณิตศาสตร์ทำให้เด็กรับรู้เกี่ยวกับเรื่องของการจำแนกของออกเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะ   หรือขนาดของมันเท่านั้น   เพราะสิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับ ชีวิตประจำวันของเด็กมาก  ในแง่ของคณิตศาสตร์นั้น  ของที่นำมาให้เด็กเล่นจะจัดเป็นหมวดหมู่ 
เช่น  การจัดลูกปัดไว้กล่องหนึ่ง  และจัดดินสอสีไว้อีกกล่องหนึ่ง  เป็นต้น
        ในชีวิตประจำวันของเรา  แนวคิดทางคณิตศาสตร์เกี่ยวข้องอยู่ด้วยตลอดเวลา  เช่นเรื่องของรูปของร่าง ขนาด  ปริมาณ  และเวลา  ครูผู้ควบคุมศูนย์จะต้องพยายามสอนให้เด็กมีทักษะในการคิดจำนวน  เช่น  ดอกไม้สองดอกรวมกับไม้อีกสองดอกจะได้เป็นสี่ดอก  2 + 2 = 4  เป็นต้นครูจะต้องเน้นในแง่ของจำนวนให้เด็กได้เห็นจริง ๆ  ไม่ใช่บอกตัวเลขบนกระดานดำโดยให้เด็กคิดเอง  แต่ไม่ได้สัมผัสสิ่งของ
                        คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  พุทธศักราช  2546 ได้ให้แนวทางการพัฒนาการทางคณิตศาสตร์ ไว้ดังนี้
             
   พัฒนาการทางคณิตศาสตร์ 
                        ขั้นที่  1 (2-3 ปี)  เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับจำนวนเมื่อมีโอกาสได้ยินได้ฟังผู้อื่นใช้  หรือเริ่มเข้าใจจำนวนจากการมีโอกาสเล่น  จับต้องวัตถุสิ่งของต่าง ๆ  ด้วยตนเอง  หรือเล่นต่อภาพที่ชิ้นส่วนของภาพมีขนาดใหญ่  เริ่มรู้จักรูปทรงเรขาคณิต  เช่น  รูปทรงกลม
                        ขั้นที่  2  (3-4  ปี)  รู้จักปริมาณมาก  มากกว่า  เริ่มคุ้นเคยกับรูปทรงเรขาคณิตของสิ่งต่าง ๆ  ที่อยู่แวดล้อมตัวเด็ก  รู้จักจัดกลุ่มสิ่งของตามคุณลักษณะต่าง ๆ  รู้จักนับ  1-5  เปรียบเทียบความเหมือนความต่างหรือใช้คำอธิบายปริมาณ  ความยาว  ขนาด
                        ขั้นที่  3  (4-5  ปี)  เข้าใจและเล่นเกมที่เกี่ยวกับจำนวน  นับสิ่งของ  1-10   และบางครั้งถึง  20  จัดกลุ่มสิ่งต่าง ๆ  ตามรูปทรงเปรียบเทียบขนาดของสิ่งต่าง ๆ
                        ขั้นที่  4  (5-6  ปี)  เริ่มเข้าใจความคิดรวบยอดในรูปของสัญลักษณ์  นับสิ่งของจำนวน  20  และอาจมากกว่านี้  จำแนกสิ่งของตามคุณลักษณะได้มากกว่า  2  คุณลักษณะ
                        (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2547 : 133)
        และดร.ธรรมนูญ  นวลใจ  ได้ให้แนวทางการนับเลข ไว้ดังนี้
  •         พัฒนาการด้านการนับเลขเริ่มนำตัวเลขมาใช้  เป็นส่วนหนึ่งของคำพูดในชีวิตประจำวันนานมาแล้ว  ก่อนที่เด็กจะเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียอีกว่า   ตัวเลขเหล่านั้นมีความหมายว่าอะไร  เมื่ออายุได้  3  ขวบ  เด็กชี้ไปที่สิ่งของและพยายามนับจำนวนของเหล่านั้น  แต่เขาจะไม่มีวันนับมันได้ถูกต้อง (นอกเสียจากว่า  เขาจะโชคดีในการเดา)
  •         ขั้นตอนต่อไปของพัฒนาการด้านตัวเลข   จะอยู่ในช่วงอายุประมาณ  3  หรือ  4  ขวบ  เริ่มจับคู่สิ่งของที่แตกต่างกัน  แต่มีจำนวนเท่ากันได้   ตัวอย่างเช่น  นำกล่องไม้กล่องเล็ก ๆ  สีน้ำเงิน  4  ใบ  สีเหลือง  4  ใบ  สีเขียว  4  ใบและ  สีดำ  6  ใบ  มาให้ลูกชี้ไปที่กลุ่มกล่องไม้สีน้ำเงิน  แล้วขอให้เด็กหากล่องไม้กลุ่มอื่นที่มีจำนวนเท่ากัน  ความสามารถในการเลือกกลุ่มกล่องไม้ได้ถูกต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า  มีความเข้าใจในจำนวนตัวเลขที่แสดงอยู่ในรูปปริมาณของสิ่งของ  และจำนวนตัวเลขกับปริมาณของสิ่งของนั้นก็มีจำนวนเท่า ๆ  กัน
  • ขั้นตอนต่อไปของพัฒนาการด้านตัวเลขคือ  การที่รู้ความจริงว่า   จำนวนตัวเลขเกิดมาจากการเรียงลำดับที่แน่นอน  เด็กมักทึกทักเอาเองว่าเป็นเพราะรู้ว่าเลข  3  ต่อจากเลข  2  ต่อจากเลข  1  ฯลฯ  (ซึ่งมันเป็นสิ่งปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน)  แต่สำหรับเด็ก เด็กจำเป็นต้องได้เรียนรู้เสียก่อน  เพราะมันไม่ได้ปรากฏให้เห็นได้เลยในทันที  ควรเรียนรู้ลำดับตัวเลขตั้งแต่  1- 5  ก่อนที่จะเรียนรู้ลำดับอื่น ๆ  ต่อไป        ในขั้นตอนนี้เริ่มเข้าใจภาษาของตัวเลข  เช่น  ใหญ่/เล็ก  มาก/น้อย  เด็กวัย  3  ขวบ  สามารถเปรียบเทียบขนาดง่าย ๆ  ได้  ตัวอย่างเช่นยื่นแก้วน้ำผลไม้ใบใหญ่และใบเล็กให้และขอให้ชี้ไปที่แก้วน้ำผลไม้ใบใหญ่  เด็กควรสามารถแยกความแตกต่างระหว่างแก้ว  2  ใบได้โดยไม่ยากนัก 
                                     เมื่อเด็กอายุได้  4  ขวบ  จะก้าวสู่ขั้นแรกของการนับตัวเลขด้วยความรอบคอบ  ตัวอย่างเช่น  นำของที่เหมือนกัน 3 - 4 ชิ้น  มาวางไว้หน้าเด็ก  เช่น  ลูกอม  3-4  เม็ด  จากนั้นขอให้นับจำนวนของออกมาดัง ๆ  และชี้ไปที่ของแต่ละชิ้นขณะที่นับด้วยอาจจะนับมันจนครบได้อย่างถูกต้อง
            เด็กควรรู้จักตัวเลขได้ตั้งแต่  1 - 10  หรือบางทีอาจถึง  20  สามารถนับเลขได้  อย่างน้อยตั้งแต่  1 - 7  และรู้ระยะเวลาที่แตกต่างกันของแต่ละวัน  (ดร.ธรรมนูญ  นวลใจ,  2541 : 138-139)

                                   สรุป
                          การเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์จนถึงกระบวนการจัดการสอนการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์เริ่มด้วยการรู้จักการนับปากเปล่า   นับเรียงลำดับตัวเลข  นับจำนวน  รู้ค่า   รู้จำนวน   นับเพิ่ม   และนับลด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น