วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สื่อประกอบกิจกรรม เพื่อการพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยหมายถึง การจัดสภาพการณ์ในชีวิตประจำวันของเด็กเป็นฐานการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งครูต้องวางแผนการจัดการเรียนรู้เป็นอย่างดี ประกอบด้วยกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กค้นคว้า แก้ปัญหา พัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และความคิดรวบยอด ที่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ เด็กแต่ละวัยจะมีความสามารถเฉพาะ เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง บรรยากาศการเรียนต้องไม่เคร่งเครียดเด็กรู้สึกสบายๆในขณะเรียน เห็นความสัมพันธ์ของคณิตศาสตร์ในธรรมชาติ บ้าน โรงเรียน กิจกรรมสอดคล้องกับชีวิตประจำวันและเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมจะช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และความคิดรวบยอดได้ดีขึ้น

การเลือกสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย เริ่มต้นจาก                                                                                   
1.การเลือกสื่อ ที่เป็นของจริง (สามมิติหรือมากกว่า)
2.การใช้สื่อที่เป้นของจำลอง (สองมิติ)
3.การใช้สื่อที่เป็นภาพหรือสัญญาลักษณ์ (มิติเดียว)

ความหมายของสื่อการสอน    
            สื่อการสอน  หมายถึง อุปกรณ์ หรือเทคนิควิธีการสอนต่างๆที่ช่วยจัดการเรียนรู้ ให้เด็กปฐมวัยให้สามารถเรียนรู้ได้ง่าย และดีขึ้น เช่น บัตรคำ เทปนิทาน เป็นต้น                                                          
   คุณค่าของสื่อการสอน
สื่อการสอน เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ถ้าสื่อการสอนนั้นนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม จะทำให้เด็กเข้าใจในสิ่งที่เรียนมากขึ้น เพราะ สื่อการสอนทำให้ครูสอนเด็กได้ง่ายขึ้น และเด็กจะกระตือรือร้น ตั้งใจเรียน เพราะได้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจน                                                             
    หลักในการจัดหาสื่อการสอน
1.มีความหลากหลาย  โดยคำนึกถึงพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยเป็นหลัก
2. มีความปลอดภัยต่อเด็ก
3. สื่อมีความน่าสนใจ สวยงาม เด็กสามารถหยิบใช้ถึง
4. มีเพียงพอต่อเด็กในชั้นเรียน
5. สื่อจะต้องมีประโยชน์ และไม่แพงจนเกินไป                                                                                                                                                    
การใช้สื่อในการดำเนินกิจกรรมควร
1. มีการเตรียมความพร้อมก่อนใช้สื่อ
  1.1 เตรียมครูผู้สอน เช่นศึกษาจุดมุ่งหมายของการใช้สื่อและวางแผนการจัดกิจกรรม จัดหาหรือจัดเตรียมสื่อและวัสดุอื่น ๆ ให้พร้อม และทดลองใช้สื่อก่อนนำไปใช้จริง
  1.2 เตรียมตัวเด็ก  เช่นกระตุ้นความสนใจของเด็กก่อนโดยการใช้คำถาม ฯลฯ เพื่อให้ทราบว่าเด็กมีความพร้อมหรือมีความรู้เดิมที่สัมพันธ์กับเรื่องใหม่ที่จะสอนหรือไม่ สอนให้เด็กรู้จักสื่อวิธีการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบในการใช้สื่อ
 1.3 เตรียมสื่อให้พร้อมก่อนนำไปใช้  เช่นตรวจสอบความแข็งแรงคงทน ความปลอดภัยและจัดลำดับการใช้สื่อว่าจะใช้อะไรตอนไหนและอย่างไรรวมถึงการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ร่วมกันกับสื่อหลักให้พร้อม
      2. การนำเสนอสื่อ
 2.1 สร้างความพร้อมและกระตุ้นความสนใจของเด็กก่อน โดยการใช้คำถามหรือเทคนิคอื่น ๆ ที่เหมาะสม
 2.2 ใช้สื่อตามลำดับ
 2.3 ใช้แล้วเก็บไม่ควรให้เด็กเห็น
 2.4 ควรยืนอยู่ด้านข้างหรือด้านหลังสื่อ
 2.5 เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการใช้สื่อ
        หลังจากการใช้สื่อทุกครั้งควรเก็บรักษาให้สะอาดเรียบร้อยและเป็นระเบียบ ควรมีการตรวจสอบ ซ่อมแซมสื่อทุกครั้งก่อนการใช้งานหรือหลังการใช้งาน รวมทั้งมีการประเมินคุณภาพของสื่อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยว่าใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กมาเพียงใด เด็กให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน

การเก็บรักษาและซ่อมแซมสื่อ

 ดำเนินการดังนี้
1. เก็บสื่อให้เป็นระเบียบและเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะประเภทของสื่อ
2. ฝึกให้เด็กหยิบสื่อออกมาใช้ได้เองและเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
3. ฝึกให้เด็กรู้ความหมายของรูปภาพหรือสีที่เป็นสัญลักษณ์แทนหมวดหมู่ประเภทของสื่อ เพื่อเด็กจะได้เก็บเข้าที่ได้ถูกต้อง
4. ตรวจสอบสื่อหลังจากที่ใช้แล้วทุกครั้งว่ามีสภาพสมบูรณ์ จำนวนครบถ้วนหรือไม่
5. ซ่อมแซมสื่อชำรุดและทำเติมส่วนที่ขาดหายไปให้ครบชุด การพัฒนาสื่อ การพัฒนาสื่อเพื่อใช้ประกอบการจัดกิจกรรมในระดับก่อนประถมศึกษานั้น ก่อนอื่นควรได้สำรวจข้อมูลสภาพปัญหาต่าง ๆ ของสื่อทุกประเภทที่ใช้อยู่ว่ามีอะไรบ้างที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการ

แนวทางการพัฒนาสื่อ

ควรมีลักษณะเฉพาะดังนี้
1. ปรับปรุงสื่อให้ทันสมัยเข้ากับเหตุการณ์ ใช้ได้สะดวก ไม่ซับซ้อนเกินไป เหมาะสมกับวัยของเด็ก
2. รักษาความสะอาดของสื่อถ้าเป็นวัสดุที่ล้างน้ำได้เมื่อใช้แล้วควรได้ล้างเช็ด หรืปัดฝุ่นให้สะอาดเก็บไว้เป็นหมวดหมู่ วางเป็นระเบียบ หยิบใช้ง่าย
3. ถ้าเป็นสื่อที่ผู้เลี้ยงดูเด็กผลิตขึ้นมาใช้เองและผ่านการทดลองใช้มาแล้ว ควรเขียนคู่มือประกอบการใช้สื่อนั้น โดยบอกชื่อสื่อ ประโยชน์และวิธีใช้ รวมทั้งจำนวนชิ้นส่วนของสื่อในชุดนั้น และเก็บคู่มือไว้ในซองหรือถุงพร้อมสื่อที่ผลิต
4. พัฒนาสื่อที่สร้างสรรค์ ใช้ได้อเนกประสงค์ คือเป็นได้ทั้งสื่อเสริมพัฒนาการ และเป็นของเล่นสนุกสนานเพลิดเพลิน


 การวัดและการประเมินสื่อการเรียนการสอน

          ในที่นี้ จะกล่าวถึงการวัดและการประเมินผลสื่อการเรียนการสอนที่มีขั้นตอนการตรวจสอบที่พิถีพิถันเพื่อให้ได้สื่อที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ในเบื้องแรก การตรวจสอบแบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ คือ การตรวจสอบโครงสร้างภายในสื่อ (Structural) และการตรวจสอบคุณภาพสื่อ (Qualitative) ดังจะได้กล่าวถึงรายละเอียดการตรวจสอบทั้งสองส่วนตามลำดับต่อไปนี้
          ขั้น ๑ การตรวจสอบโครงสร้างภายในสื่อ (Structural basis)
          การตรวจสอบในขั้นนี้เป็นการตรวจสอบสิ่งที่ปรากฏในสื่อ ซึ่งสามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ถ้าส่วนที่ปรากฏภายในมีลักษณะชัดเจน ง่าย และสะดวกแก่การรับรู้ สื่อนั้นเป็นสื่อที่มีศักยภาพสูงในการสื่อสาร การตรวจสอบที่สำคัญในขั้นนี้ประกอบด้วยสองส่วนคือ ลักษณะสื่อและเนื้อหาสาระในสื่อ
          ๑. ลักษณะสื่อ
ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการผลิตสื่อให้มีลักษณะต่างๆ คือ ลักษณะเฉพาะตามประเภทของสื่อ การออกแบบ เทคนิควิธี และความงาม ดังนั้นในการตรวจสอบลักษณะสื่อ ผู้ตรวจสอบจะมุ่งตรวจสอบทั้งสี่ประเด็นข้างต้นเป็นหลัก             
   ๑.๑ ลักษณะเฉพาะตามประเภทของสื่อ
                    สื่อแต่ละประเภทมีลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะ สื่อการเรียนการสอนบางประเภทจะทำหน้าที่เพียงให้สาระข้อมูล บางประเภทจะให้ทั้งสาระและกำหนดให้ผู้เรียนตอบสนองด้วยในสื่อบางประเภท เช่น สื่อสำหรับการศึกษารายบุคคล สื่อที่เสนอเนื้อหาสาระข้อมูลอาจจะเสนอได้หลายรูปแบบ ซึ่งอาจจะให้ความเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมมากน้อยแตกต่างกัน ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือของจริง ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลใช้ประสาทสัมผัสได้มากช่องรับสัมผัสกว่าสื่ออื่น ที่มีความเป็นรูปแบบรองลงมา ได้แก่ ของตัวอย่าง ของจำลอง เป็นต้น สื่อบางชนิด ให้สาระเป็นรายละเอียดมาก บางชนิดให้น้อย บางชนิดให้แต่หัวข้อ เช่น แผ่นโปร่งใส สื่อบางประเภทสื่อสารด้วยการดู บางประเภทสื่อสารทางเสียง หรือบางประเภทสื่อสารด้วยการสัมผัส ดมกลิ่น หรือลิ้มรส เช่น การสื่อสารด้วยภาพ ซึ่งมีหลายชนิด ตั้งแต่สื่อประเภทกราฟิกอย่างง่ายไปจนถึงภาพเหมือนจริง สื่อประเภทกราฟิกนั้น ต้องเสนอความคิดหลักเพียงความคิดเดียว ภาพก็มีหลายชนิด ภาพ ๒ มิติ หรือภาพ ๓ มิติ ภาพอาจจะอยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหวเร็ว บางชนิดเป็นลายเส้น รายละเอียดน้อย เช่น ภาพการ์ตูน ซึ่งต่างจากภาพเหมือนจริงที่ให้รายละเอียดมาก เป็นต้น รูปแบบของการเสนอภาพนั้น อาจจะเสนอภาพหลายภาพพร้อมกัน (Simultaneous Images หรือ Multi-Images) หรืออาจจะเสนอภาพที่ละภาพต่อเนื่องกัน (Sequential Images) เหล่านี้เป็นต้น ลักษณะที่แตกต่างกันนี้ย่อมให้คุณค่าแตกต่างกัน
             ๑.๒ มาตรฐานการออกแบบ (Design Standards)
                    การออกแบบสื่อการเรียนการสอนเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยการนำส่วนประกอบต่างๆ ตามประเภทของสื่อและองค์ประกอบการเรียนการสอนที่เกี่ยงข้องมาพิจารณา เพื่อประโยชน์ของการสื่อสาระตามความคาดหมาย องค์ประกอบการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องในที่นี้ได้แก่ จิตวิทยาการเรียนรู้เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย หลักการสอน กระบวนการสื่อสารและลักษณะเฉพาะเรื่อง เป็นต้น การออกแบบสื่อที่ดีจะต้องช่วยทำให้การสื่อสาระชัดเจนและเป็นที่เข้าใจง่ายสำหรับกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ ต้องไม่เป็นการออกแบบที่ทำให้การสื่อสารคลุมเครือ และสับสนจนเป็นอุปสรรคต่อการสื่อความเข้าใจ ดังนั้นในการตรวจสอบสื่อในขั้นนี้ สิ่งที่ผู้ตรวจสอบสื่อจะต้องพิจารณา คือ การชี้หรือแสดงสาระสำคัญตามที่ต้องการได้อย่างน่าสนใจ กระชับและได้ใจความครบถ้วน มีความเหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรม เช่น จำนวนเวลาเรียน จำนวนบุคคลผู้ใช้สื่อ วิธีการใช้สื่อ เป็นต้น มีความน่าสนใจ ตื่นหู ตื่นตา เร้าใจ และน่าเชื่อถือ อนึ่ง หากสื่อนั้นมีกิจกรรมหรือตัวอย่างประกอบ กิจกรรมจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเนื้อหาสาระ ทั้งกิจกรรมและตัวอย่างต้องสามารถจุและตรึงความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ตลอดเวลา และนำไปสู่การขยายหรือเสริมสาระที่ต้องการเรียนรู้ให้กระจ่างชัด แต่ถ้าสื่อนั้นเป็นวัสดุกราฟิก ก็จะต้องเป็นการออกแบบที่ลงตัว มีความสมดุลย์ในตัว
              ๑.๓ มาตรฐานทางเทคนิควิธี (Technical standards)
                เทคนิควิธีการเสนอสื่อ เป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สื่อมีความน่าสนใจและสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญประการหนึ่งที่ควรเน้นในที่นี้คือ เทคนิควิธีที่ใช้ในสื่อการเรียนการสอน ต้องเป็นเทคนิควิธีการทางการศึกษากล่าวคือ เป็นเทคนิควิธีการที่ช่วยให้การเสนอสาระเป็นไปอย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือหรือไม่ซ่อนเร้นสาระเพื่อให้มีการเดาในด้านการนำเสนอต้องน่าสนใจ ตื่นหู ตื่นตา ในกรณีที่มีการเปรียบเทียบต้องสามารถชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างและความเหมือน ก่อให้เกิดความเข้าใจง่าย มีความกระชับและสามารถสรุปกินความได้ครบถ้วนถูกต้องตามที่วัตถุประสงค์กำหนด อีกทั้งเป็นเทคนิควิธีที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเป็นจริงเป็นจัง
                ส่วนในด้านการใช้สื่อ ควรเป็นเทคนิควิธีที่ช่วยให้ความคล่องตัวในการใช้ ใช้ง่าย และมีความปลอดภัย
 

สรุป  
สื่อการสอนคณิตศาสตร์มีความจำเป็นในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของเด็ก เพราะเด็กปฐมวัยจะเรียนรู้ทางด้านรูปธรรม มากกว่านามธรรม ดังนั้น ในการใช้สื่อคณิตศาสตร์สอนเด็ก ครูควรจะเน้นให้เด็กลงมือกระทำ คิด และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น